วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558

เครื่องดนตรีไทยประเภทเป่า

 เครื่องเป่า หมายถึงเครื่องดนตรีประเภทที่ใช้ลมเป่าให้เกิดเสียง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2ประเภทคือ
    1. ประเภทที่มีลิ้น ซึ่งทำด้วยใบไม้ หรือไม้ไผ่ หรือโลหะ สำหรับเป่าลมเข้าไปในลิ้นๆจะเกิดความเคลื่อนไหวทำให้เกิดเสียงขึ้น เรียกว่า " ลิ้นปี่ " และเรียกเครื่องดนตรีประเภทนี้ว่า " ปี่ "
    2. ประเภทไม่มีลิ้น มีแต่รูบังคับให้ลมที่เป่าหัก มุมแล้วเกิดเป็นเสียง เรียกว่า " ขลุ่ย "
ทั้งปี่และขลุ่ย มีลักษณะเป็นนามว่า " เลา "มีวิธีเป่าที่เป็นเอกลักษณ์ คือ การเป่าด้วยการระบายลม ซึ่งให้เสียงปี่ดังยาวนานติดต่อกันตลอด
เครื่องเป่าที่มีลิ้น
ปี่ในวงการดนตรีไทยมี 9 ชนิดคือ
1. ปี่ใน ใช้เป่ากับวงปี่พาทย์ไม้แข็งคู่กับปีนอก
2. ปี่นอก ใช้เป่ากับวงปี่พาทย์ไม้แข็งคู่กับปี่ใน

3. ปี่นอกต่ำ ใช้เป่ากับวงปี่พาทย์ในสมัยหนึ่ง

4. ปี่กลาง ใช้เป่ากับการแสดงหนังใหญ่

5. ปี่ชวา ใช้เป่ากับปี่พาทย์นางหงส์ และ เครื่องสายปี่ชวา และวงปี่กลอง

6. ปี่มอญ ใช้เป่ากับวงปี่พาทย์มอญ
7. ปี่อ้อ

8. ปี่จุ่ม 

9. แคน
 เครื่องเป่าที่ไม่มีลิ้น
ปี่ในวงการดนตรีไทยมี 3 ชนิดคือ
1. ขลุ่ยลิบ
2. ขลุ่ยอู้
3. ขลุ่ยเพียงออ
เครื่องเป่าที่มีลิ้น
ปี่ใน
เป็นเครื่องเป่าที่มีลิ้น ผสมอยู่ในวงปี่พาทย์มา แต่โบราณ ที่เรียกว่า "ปี่ใน " ก็เพราะว่า ปี่ชนิดนี้ เทียบเสียงตรงกับระดับเสียงที่เรียกว่า " เสียงใน " ซึ่งเป็นระดับเสียงที่วงปี่พาทย์ไม้แข็ง บรรเลงเป็นพื้นฐาน ตัวเลา ทำด้วยไม้ชิงชัน หรือไม้พยุง กลึงให้ป่องกลาง และบานปลายทั้งสองข้าง ภายในเจาะเป็นรูกลวงตลอดหัวท้าย มีรูสำหรับเปิดปิดนิ้ว 6รู โดยให้ 4 รูบนเรียงลำดับเท่ากัน เว้นห่างพอควรจึงเจาะอีก 2 รู ระหว่างช่องตอนกลางของแต่ละรู จะกรีดเป็นเส้น ประมาณ 3เส้นเพื่อให้สวยงาม ตอนหัวและตอนท้าย ของเลาปี่จะมีวัสดุกลมแบน ทำด้วยยาง หรือไม้มาเสริม โดยเฉพาะตอนบนสำหรับสอดใส่ลิ้นปี่เรียกว่า " ทวนบน " ส่วนตอนล่างจะใช้ตะกั่วมาต่อ สำหรับลดเลื่อนเสียงเรียกว่า " ทวนล่าง " ตัวเลาปี่นอกจากจะทำด้วยไม้ แล้วยังพบปี่ซึ่งทำด้วยหิน เป็นของเก่าแต่โบราณ

ปี่นอก

มีขนาดเล็กสุด ใช้เป่าในวงปี่พาทย์ชาตรี ในการเล่นโนราห์ หนังลุง และละครชาตรี ต่อมาได้เข้ามาบรรเลงผสมในวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่และ เครื่องใหญ่ โดยเป่าควบคู่ไปกับปีใน มีระดับเสียง สูงกว่าปีใน มีวิธีเป่าคล้ายคลึงกับปี่ใน
ปี่นอกต่ำ มีขนาดใหญ่กว่าปี่นอก มีเสียงต่ำกว่าปี่นอก จึง เรียกว่า " ปี่นอกต่ำ " เคยใช้เป่าในวงปี่พาทย์มอญมาสมัยหนึ่ง ในปัจจุบันมิได้พบเห็นในวงปี่พาทย์ อาจเป็นด้วยหาคนเป่าได้ยาก หรือความไม่รู้เท่า ตลอดจนความไม่ประณีตของผู้บรรเลง ที่ใช้ปี่มอญเป่าในขณะบรรเลงเพลงไทยในวงปี่พาทย์มอญ ซึ่งทำให้อรรถรสของเพลงไทยผิดเพี้ยนไป

ต่อมาเมื่อการค้นคว้าหาข้อเปรียบเทียบของปี่ทั้ง 4ชนิด พบว่าปี่นอกต่ำใช้เป่าอยู่ในวง "ตุ่มโมง " ประกอบพิธีศพของผู้มีบันดาศักดิ์ทางภาคพื้นอีสานใต้มาแต่เดิม และในการเล่นโนราห์ชาตรีของชาวภาคใต้ในปัจจุบัน พบว่าได้ใช้ปี่นอกต่ำเป่ากันเป็นพื้นฐาน
ปี่กลาง

 เป็นปี่ที่มีสัดส่วนและเสียงอยู่กลางระหว่างปี่นอกกับปี่ใน จึงเรียกปี่ชนิดนี้ว่า " ปี่กลาง"ใช้เป่าประกอบการเล่นหนังใหญ่มาแต่โบราณ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดให้เกิดเสียง " ทางกลาง "ขึ้น ปัจจุบันไม่ใคร่ได้พบเห็น มีวิธีการเป่าเช่นเดียวกับปี่นอกและปี่ใน เพียงแต่ผิด กันที่นิ้วและระดับเสียง 
ปี่ชวา
 เป็นเครื่องเป่าอีกประเภทหนึ่งที่มีลิ้น ซึ่งนำแบบอย่างมาจากชวา เข้าใจว่าเข้ามา เมืองไทยในคราวเดียวกับกลองแขก โดยเฉพาะในการเป่าเพลงประกอบการรำ " กริช "ในเพลง " สะระหม่า" ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น " ๑ " พบว่าปี่ชวาใช้เป่าร่วมกับกลองในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมาคร นอกจากนั้นยังพบเห็นปี่ชวาเป่าประกอบการเล่นกระบี่-กระบอง และการชกมวย
ปี่อ้อ
เป็นปี่ของไทยที่เก่าแก่อย่างหนึ่ง ตัวเลาทำด้วยไม้ลวกปล้องเดียว ไม่มีข้อ เขียนลวดลายด้วยการใช้ไฟลน หัวและท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลือง หรือเงิน ด้านหน้าเจาะรูสำหรับปิดเปิดนิ้วบังคับเสียง 7 รู และด้านหลังเป็นรูนิ้วค้ำ 1 รู ลิ้นปี่นั้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็กๆ เหลาให้บาง ไว้ทางหนึ่งกลม พันด้วยด้ายเพื่อให้กระชับพอที่จะเสียบเข้าไปในเลาปี่ อีกทางหนึ่งผ่าเจียนเป็น 2 ซีก ปลายมน ตัดไม้แบนเข้าแนบประกบ
ปี่จุ่ม
 เป็นเครื่องเป่าอีกชนิดหนึ่งที่มีลิ้น ที่ใช้ประกอบกับซอพื้นเมืองของล้านนาไทย ซึ่งเดิมใช้เป่าแอ่วสาวของหนุ่มชาวเหนือไปตามละแวกหมู่บ้าน เป็นเครื่องดนตรีประจำภาคเหนือ หรือล้านนา ปัจจุบันใช้เป่าร่วมสะล้อ ซึง กลองเมือง (หรือกลองโป่งโป้ง) บรรเลงเพลงที่มีสำเนียงเหนือได้อย่างไพเราะ มีชื่อเป็นนามว่า " เล่ม "
แคน 
เป็นเครื่องเป่าพื้นเมืองของชาวอีสานเหนือที่ใช้ไม้ซางขนาดต่าง ๆ ประกอบกันเข้าเป็นตัวแคน แคนเป็นสัญลักษณ์ของภาคอีสาน เป็นเครื่องเป่ามีลิ้นโลหะ เสียงเกิดจากลมผ่านลิ้นโลหะไปตามลำไม้ที่เป็นลูกแคน การเป่าแคนต้องใช้ทั้งเป่าลมเข้าและดูดลมออกด้วย จึงเป่ายากพอสมควร แคนมีหลายขนาด บางขนาดมีเสียงประสานอยู่ด้วย
 
ปี่มอญ
ปี่มอญ เป็นเครื่องเป่าในตระกูลปี่ ไทยได้แบบอย่างมาจากมอญ ปี่ชนิดนี้แบ่งเป็น 2 ท่อน ท่อนแรกเรียกว่า"ตัวเลา" ทำด้วยไม้จริง กลึงให้กลมเรียวยาว ภายในโปร่งตลอด ตอนปลายกลึงผายออกเล็กน้อย ถัดลงมากลึงเป็นลูกแก้วคั่นสำหรับผูกเชือกโยงกับตัวลำโพง ที่ตัวเลาด้านหน้าเจาะรู 7 รู เรียงตามลำดับเพื่อเปิดปิดนิ้วบังคับเสียง ด้านหลังตอนบนเจาะอีก 1 รูเป็น"รูนิ้วคำ" อีท่อนหนึ่งเรียกว่าลำโพง ทำด้วยทองเหลืองหรือสแตนเลส ลักษณะคล้ายดอกลำโพง แต่ใหญ่กว่า ปลายผายบานงุ้มขึ้น ตอนกลางและตอนปลายตีเป็นลูกแก้ว ตัวเลาปี่จะสอดใส่เข้าไปในลำโพง โดยมีเชือกเคียนเป็นทักษิณาวัฏ ในเงื่อน"สับปลาช่อน" ยึดระหว่างลูกแก้วลำโพงปี่กับลูกแก้วตอนบนของตัวเลาปี่ เพื่อไม่ให้หลุดออกจากกันง่ายๆ
เครื่องเป่าที่ไม่
มีลิ้น
 ขลุ่ยลิบ
ขลุ่ยหลีบมีชื่อเต็มว่า ขลุ่ยหลีบเพียงออ ใช้เป่าคู่กับขลุ่ยเพียงออ มีขนาดเล็กและสั้นกว่าขลุ่ยเพียงออ ใช้ไม้รวกขนาดเล็กปล้องสั้นๆ เสียงจึงแหลมสูงกว่ขลุ่ยเพียงออ ใช้ในวงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ไม้นวม เช่นเดียวกันแต่ป็นวงเครื่องคู่ หรือ เครื่องใหญ่

ขลุ่ยอู้
ขลุ่ยอู้เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ที่สุด ต้องใช้ไม้รวกลำใหญ่ปล้องยาวทำ ขลุ่ยชนิดนี้จึงมีเสียงทุ้มตำมาก และมี เสียงคล้ายซออู้ จึงเรียก
ขลุ่ยอู้ เคยใช้ในวงเครื่องสายวงใหญ่ แต่เนื่องจากหาขลุ่ยและคนเป่าได้ยากขึ้น จึงไม่นำมาผสมวงในระยะหลัง นี้ จะพบบ้างในวงปี่พาทย์
ดึกดำบรรพ์ แต่เดี่ยวนี้ขลุ่ยอู้ชักจะหายไป คงเหลือแต่ขลุ่ยเพียงออกับขลุ่ยหลีบเท่านั้น
ขลุ่ยเพียงออ

 
เป็นขลุ่ยที่มีเสียงปานกลางมีขนาดกลาง ใช้ในวงเครื่องสาย วงมโหรี วงปี่พาทย์ ไม้นวม และวงปี่พาทย์ ดึกดำบรรพ์เป็นเครื่อง
ดนตรีที่น่าส่งเสริมให้ฝึกหัดกันมากๆ เพราะราคาไม่แพงรูปร่างกระทัดรัด นำติดตัวไปได้สะดวก เสียงไพเราะ ผู้สนใจจะฝึกได้ไม่ยากนัก

เครื่องดนตรีไทยประเภทสี

ซอด้วง 

      เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสีที่มี 2 สาย ซึ่งเดิมเป็นเครื่องดนตรีของจีน ร่วมบรรเลงในวงเครื่องสายเมื่อราวต้นสมัยรัตนโกสินทร์ หรือถ้าก่อนนั้นก็คงราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พร้อมกันกับซออู้ มีหน้าที่เป็นผู้ทำทำนองเพลง สีเก็บถี่ๆบ้าง โหยหวนเป็นเสียงยาวบ้าง เป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง และเป็นผู้นำวง ด้วยเหตุที่เรียก "ซอด้วง" ก็เพราะว่ากะโหลกซอนั้น มีลักษณะคล้ายกับเครื่องดักสัตว์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ด้วงดักแย้" ส่วนประกอบของซอด้วงมีดังนี้
• กะโหลกทำด้วยไม้มีลักษณะเป็นทรงกระบอกลำตัวมีกระพุ้งเล็กน้อย ตอนปลายผายภายในเจาะแต่เป็นโพรง ใกล้หน้าขึ้นหนังจะเจาะรู 2 รูเพื่อสอดใส่ไม้คันทวน
• หน้าซอ ขึ้นด้วยหนังงูเหลือมหนังลูกแพะ หรือหนังลูกวัว
• คันทวน ทำด้วยไม้มีส่วนประกอบดังนี้
• เดือย เป็นส่วนล่างสุดกลึงให้เล็กเพื่อสอดใส่เข้าไปในรูกะโหลกตอนบนทะลุออกตอนล่างเล็กน้อย
• เท้าช้าง กลึงลักษณะกลมเพื่อยึดติดกะโหลกซอตอนบน
• ลูกแก้ว กลึงเป็นวงกลมรอบไม้ต่อจากเท้าช้าง
• เส้นลวด กลึงเป็นวงเส้นนูนเล็กๆห่างจากลูกแก้วขึ้นมาเล็กน้อย
• บัวกลึงบากให้เป็นเหลี่ยมเพื่อให้รับกับโขนซอ
• โขนซอที่ปลายคันทวน จะกลึงเป็นทรงสี่เหลี่ยมโค้งไปทางหลังเล็กน้อย เรียกว่า"โขนซอ"และที่โขนซอเจาะรู๒รูเพื่อสอดใส่ลูกบิด
• ลูกบิด ทำด้วยไม้กลึงหัวใหญ่มีลักษณะ เป็นลูกแก้ว ก้านบัวประดับเม็ด ปลายกลมเรียวแหลม เพื่อสอดใส่ในรูลูกบิด ตอนปลายสุดจะบากเป็นช่องเล็กสำหรับพันผูกสายซอบิดลดเร่งเสียง
• สายใช้สายไหมทั้ง 2 เส้นๆหนึ่งเป็นสายเอก อีกเส้นหนึ่งเป็นสายทุ้ม ต่อมาใช้สายเอ็นผูกที่เดือนใต้กะโหลกผ่าน "หย่อง" ซึ่งทำด้วยไม้เล็ก เพื่อหนุนสายให้ลอยตัวผ่านหนังหน้าซอไปยังลูกบิดและไปพันผูกที่ปลายลูกบิดทั้งสอง ก่อนถึงลูกบิดบริเวณใกล้บัว ใช้เชือกรัดสายให้ตึงห่างจากคันทวนพอประมาณเรียกว่า "รัดอก"
• คันชัก ทำด้วยไม้กลึงกลมโค้งเล็กน้อย ตอนหัวและหางกลึงเป็นลูกแก้ว ตอนล่างจะกลึงไม้นูนกลมออกมาจากคันซอเล็กน้อย เพื่อคล้องหางม้า สำหรับตอนบนเจาะรูเพื่อสอดใส่หางม้าที่มีจำนวนหลายๆเส้น โดยขมวดไว้ที่ปลายคันซอ โดยปกติคันชักของซอด้วงและซออู้จะอยู่ในระหว่างสายเอกกับสายทุ้มเพื่อให้สวยงามนิยมแกะสลักฝังมุขเป็นลวดลายต่างๆสวยงาม บางคันทำด้วยงาทั้งคัน ตลอดจนกะโหลกหรือลูกบิดก็เป็นงาด้วย

หลักการสีซอด้วง
      ผู้สีนั่งท่าพับเพียบ ลำตัวตรง มือซ้ายจับคันทวน ให้ฝ่ามือหันเข้าหาลำตัว ไม่หักหรืองอข้อมืออยู่ใต้รัดอก คันทวนอยู่ชิดง่ามนิ้ว ระหว่างนิ้วหัวมือกับนิ้วชี้นิ้วหัวแม่มืออยู่ในท่าประคองคันทวน กระบอกซอวางอยู่ประมาณกึ่งกางของหน้าขาซ้าย คันทวนอยู่ในแนวตั้ง แขนซ้ายอยู่ในท่างอข้อศอกห่างจากลำตัวพองาม มือขวาหงายมือจับคันทวนแบบสามหยิบ ให้คันชักขนานพื้น วิธีจับแบบสมาหยิบ คือ มือขวาจับคันชักห่างจากหมุดตรึงหางม้าในช่วงไม่เกินหนึ่งฝ่ามือ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือนิ้วชี้และนิ้วนางจับก้านคันชัก และให้นิ้วหัวแม่มือวางอยู่บนคันชักนิ้วชี้และนิ้วกลางรองรับอยู่ด้านล่าง ส่วนนิ้วนางสอดเข้าไปในระหว่างก้านคันชักกับกับหางม้า โดยเรียงลำดับให้สวยงาม แขนขวาไม่หนีบหรือกางข้อศอกจนเกินงาม

วิธีสีซอด้วงมีดังนี้
1.สีไล่เสียงด้วยการกดสายทีละนิ้วยกเว้นนิ้วก้อย
2. สีไล่เสียง โดยใช้นิ้วก้อย 9 เสียง
3.เก็บคือการสีด้วยพยางค์ถี่ๆโดยตลอดเป็นทำนองเพลง
4.สีสะบัดคือการสีที่มีพยางค์ถี่และเร็วโดยมากเป็น3พยางค์
5.สีนิ้วพรมเปิดคือสีกดนิ้วลงที่สายในลักษณะแตะขึ้นแตะลงช้า
6.สีนิ้วพรมปิดคือสีกดนิ้วลงที่สายในลักษณะแตะขึ้นแตะลงถี่ๆ
7.สีนิ้วประคือการสีสายเปล่าใช้กลางนิ้วของนิ้วกลางแตะขึ้นลงที่สาย
8.สีครั่นคือการใช้นิ้วกดยืนเสียงตามด้วยนิ้วกลางและใช้นิ้วกลางเลื่อนขึ้นเลื่อนลง
9. สีสะอึก คือการสีให้เสียงขาดเป็นตอนๆ
10.สีรัวคือการใช้ส่วนปลายของคันชักสีออกสีเข้าสลับกันด้วยพยางค์ถี่ๆและเร็วที่สุด
11. สีดำเนินทำนองเพลงเป็นทางของจะเข้

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ซออู้ 

      เป็นเครื่องสีอีกประเภทหนึ่งที่เป็นคู่มากับซอด้วง เข้าใจว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ชนชาติจีนเล่นมาก่อนมารวมเล่นเป็นวงเครื่องสายในระยะเดียวกับซอด้วง มีหน้าที่สีดำเนินทำนองเพลงในลักษณะหยอกยั่วเย้าไปกับผู้ทำทำนองเพลงบางครั้งใช้สีคลอไปกับร้อง ด้วยภายหลังเมื่อมีวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์และวงปี่พาทย์ไม้นวม จึงได้นำซออู้เข้ามาบรรเลงร่วมด้วย ส่วนประกอบของซออู้มีดังนี้
• กะโหลกซอ ทำด้วยกะลามะพร้าว โดยเฉพาะกะลามะพร้าวที่มีลักษณะ กลมรีขนาดใหญ่ นำมาปาดกะลาออกด้านหนึ่ง เพื่อขึงหรือขึ้นหน้าซอ ที่ตัวกะโหลกนั้นขัดเกลาให้เรียบ บางกะโหลกด้านหลังที่เจาะเป็นรู แกะลวดลายต่างๆให้สวยงาม เพื่อใช้เป็นรูระบายเสียงไปในตัว ส่วนตอนบนเจาะรูทะลุตรงกลางเพื่อสอดใส่คันทวน
• คันทวน ทำด้วยไม้แก่น กลึงเหลาให้กลมมีลักษณะเรียวยาว โคนเล็ก ปลายขยายใหญ่ขึ้นคันทวน
• เดือย กลึงเล็กเรียวยาวพอทะลุกะโหลกด้านล่างเพื่อไว้ผูกสาย
• เท้าช้าง กลึงกลมโดยรอบเพื่อยึดกับกะโหลก
• ลูกแก้ว กลึงกลมโดยรอบต่อจากเท้าช้าง
• เส้นลวด กลึงกลมโดยรอบ โดยห่างจากลูกแก้วเล็กน้อยจากเส้นลวดจะกลึงให้มีขนาดเรียวใหญ่ขึ้นไปจนถึงปลายเรียกว่า"ทวนปลายที่บริเวณทวนปลายจะกลึงเป็นลูกแก้ว 3 ช่วงห่างกันพอประมาณระหว่างช่วงลูกแก้ว ทั้งสามเจาะรู 2 รูสำหรับสอดใส่ลูกบิด ปลายสุดของทวนบนจะกลึงคล้ายลูกแก้วตรงกลางขอบสุดจะกลึงขีดเป็นเส้นวงกลม สำหรับปลายทวนของซออู้จะเป็นไม้ตัน แต่ทวนบนของซอสามสายจะเป็นโพรงภายใน
• ลูกบิด ทำด้วยไม้แก่นกลึงกลมหัวใหญ่ ประกอบลูกแก้ว ปลายเรียวเล็กเพื่อสอดใส่ในรูคัน ทวนตอนปลายสุดเจาะรูเล็กเพื่อผูกพันสายซอ
• สายใช้สายไหมหรือสายเอ็น 2 เส้น ผูกที่เดือยใต้กะโหลกขึงผ่าน"หมอนซึ่งทำด้วยผ้าพันลักษณะกลมสำหรับหนุนสายให้ผ่านหน้าซอและไปผ่านหมอนไปถึงลูกบิด พันผูกที่ลูกบิดทั้งสอง ก่อนถึงลูกบิดจะใช้เชือกมัดสายทั้งสองกับคันทวนให้ห่างพอประมาณเรียกว่า " รัดอก “ เพื่อให้เสียงไพเราะยิ่งขึ้น
• คันชัก ทำด้วยไม้แก่น เหลากลมยาว มีลักษณะเช่นเดียวกับคันชักซอด้วงและสอดใส่อยู่ในระหว่างสายเอกกับสายทุ้ม เพื่อให้สวยงาม นิยมแกะสลักเป็นลวดลายประดับมุขเป็นลวดลายต่างๆสวยงามบางคันทำด้วยงาทั้งคัน

หลักการสีซออู้
      ผู้สีนั่งท่าพับเพียบ ลำตัวตรง มือซ้ายจับคันทวนให้ฝ่ามือหันเข้าหาลำตัว ไม่หักหรืองอข้อมืออยู่ใต้รัดอก คันทวนอยู่ชิดง่ามนิ้ว ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ นิ้วหัวแม่มืออยู่ในท่าประคองคันทวน กระบอกซอวางอยู่ประมาณกึ่งกางหน้าขาซ้าย คันทวนอยู่ในแนวตั้ง แขนซ้ายอยู่ในท่างอข้อศอกห่างจากลำตัวพองาม มือขวาหงายมือจับคันทวนแบบสามหยิบ ให้คันชักขนานพื้น วิธีจับแบบสามหยิบ คือมือขวาจับคันชักห่างจากหมุดตรึงหางม้าในช่วงไม่เกินหนึ่งฝ่ามือโดยใช้นิ้วหัวแม่มือนิ้วชี้และนิ้วนางจับก้านคันชักและให้นิ้วหัวแม่มือวางอยู่บนคันชักนิ้วชี้และนิ้วกลางรองรับอยู่ด้านล่าง ส่วนนิ้วนางสอดเข้าไปในระหว่างก้านคันชักกับหางม้า โดยเรียงลำดับให้สวยงาม แขนขวาไม่หนีบหรือกางข้อศอกจนเกินงาม

วิธีสีซออู้มีดังนี้
1.สีไล่เสียงด้วยการกดสายทีละนิ้วยกเว้นนิ้วก้อย
2. สีไล่เสียง โดยใช้นิ้วก้อย  เสียง
3.สีเก็บคือการสีด้วยพยางค์ถี่ๆโดยตลอดเป็นทำนองเพลง
4.สีสะบัดคือการสีที่มีพยางค์ถี่และเร็วโดยมากเป็น3พยางค์
5.สีนิ้วพรมเปดิ คือสีกดนิ้วลงที่สายในลักษณะแตะขึ้นแตะลงช้า
6.สีนิ้วพรมปิดคือสีกดนิ้วลงที่สายในลักษณะแตะขึ้นแตะลงถี่ๆ
7.สีนิ้วประคือการสีสายเปล่าใช้กลางนิ้วของนิ้วกลางแตะขึ้นลงที่สาย
8.สีรัวคือการใช้ส่วนปลายของคันชักสีออกสีเข้าสลับกันด้วยพยางค์ถี่ๆและเร็วที่สุด
9.สีดำเนินทำนองเพลงเป็นทางของจะเข้

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ซอสามสาย

      เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสีที่เก่ามาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยมีวิธีการประดิษฐ์ลักษณะของซอได้อย่างปราณีต สวยงาม มีเสียงไพเราะนุ่มนวล เดิมใช้เป็นเครื่องประกอบในพระราชพิธีโดยเฉพาะในวงขับไม้ “ ซึ่งใช้บรรเลงขับกล่อมในพระราชพิธี กล่อมพระอู่ หรือพระราชพิธี"สมโภชน์ขึ้นระวางช้างต้น “ ( พิธีกล่อมช้าง ) เป็นต้น ส่วนประกอบของซอสามสายมีดังนี้กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าวชนิดที่มีลักษณะนูนเป็นกระพุ้งออกมา 3 ปุ่ม คล้ายวงแหวน 3อัน วางอยู่ในรูปสามเหลี่ยมจึงเป็นสามเส้า ผ่ากะลาให้เหลือปุ่มสามเส้า เพื่อใช้เป็นกะโหลกซอ ขึงขึ้นหน้าซอด้วยหนังแพะหรือหนังลูกวัว โดยปิดปากกะลา ขนาดของหน้าซอจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับกะลาที่จะหามาได้ที่กะลา ด้านบนและด้านล่างเจาะรูเพื่อสอดใส่ไม้ยึดคันทวน โดยให้โผล่ตอนบนยาวกว่าตอนล่าง คันทวนทำด้วยไม้แก่นประกบต่อจากกะโหลกซึ่งมี๓
ตอนคือ
ทวนล่าง ประกอบด้วย " ปากช้างล่าง " บากไม้ภายในให้รับกับตอนล่าง ของกะโหลกถัดจากปากช้างล่างมี " รูร้อยหนวดพราหมณ์ " คือการควั้นเชือกติดกับ เนื้อไม้เพื่อสำหรับผูกพันสายซอ จากนั้นจะกลึงไม้แก่นเป็นวงๆเรียงลำดับลดหลั่นลงมาเรียกว่า " เส้นลวด "ต่อจากนั้นจะกลึงเป็น " ลูกแก้ว " คั่นกลางแล้วต่อด้วยเส้นลวด ขนาดลดหลั่นเล็กลงไปล่างสุดจะทำเป็นเท้าซอซึ่งทำด้วยโลหะกลึงกลมปลายแหลมเพื่อตรึงยึดกับพื้น ขณะสี ทวนล่างจะสอดเข้าไปในไม้ยึดประกบชิดติดกับกะโหลกซอด้านล่างทวนกลาง กลึงลักษณะกลมยาวภายในโปร่ง เพื่อสอดเข้าไปในไม้ยึด ตอนโคนเรียบ จากนั้นจะกลึงเป็นแหวนเรียงลำดับลดหลั่นขึ้นไปตอนปลายนิยมแกะสลักประกอบมุขหรืองาเป็นลวดลายต่างๆ
ทวนบน กลึงลักษณะกลมภายในโปร่งเรียวใหญ่ขึ้น มีเส้นลวด 4 เส้นๆที่ -- เจาะรูทะลุ สำหรับสอดใส่ลูกบิด และเจาะรูสำหรับสายซออีกรูหนึ่ง บริเวณใกล้ตอนรอยต่อทวนกลางกับทวนบน ปลายคันทวนเรียกว่า " ลำโพง " จะบานผายออก ปลายสุดจะกลึงเป็นเส้นลวดโดยรอบไว้
• ลูกบิด ทำด้วยไม้ กลึงกลมเรียว ตอนหัวกลึงเป็นรูปเม็ด ตอนปลายเรียวเล็กลงเพื่อสอดใส่ในรูคันทวนปลาย ตอนปลายสุดจะบากเป็นช่องไว้สำหรับพันผูกสายซอ
• สายซอ ใช้สายไหมหรือสายเอ็นพันผูกกับหนวดพราหมณ์ที่ทวนล่าง ขึงผ่านหน้าซอผาดไว้บน "หย่อง " ซึ่งทำด้วยไม้หรืองา โค้งติดไว้ที่หน้าซอตอนบน เพื่อหนุนสายให้ลอยเหนือคันทวนกลาง
ปลายทวนกลางจะนำเชือกไหมมารัดสายทั้ง 3 เส้นติดไว้กับคันซอหลายรอบเรียกว่า " รัดอก " จากนั้นนำสายไหมทั้ง  เส้นจะสอดเข้าไปในรูทวนบนเพื่อไปผูกพันที่ปลายลูกบิด ที่หน้าหนังซอจะใช้รักก้อนเล็กๆประดับด้วยเพชรพลอย สำหรับเป็นเครื่องถ่วงเสียงให้เกิดกังวานดังไพเราะยิ่งขึ้น
• คันชัก ทำด้วยไม้กลมยาว ตอนปลายโค้ง ใช้หางม้าหลายเส้นผูกรวมกันจากปลายคันชักมาสู่โคนคันชัก โดยการนำเชือกอีกเส้นหนึ่งมามัดไว้กับโคนคันชัก เพื่อความสวยงาม ที่ปลายหางม้าจะถักหางเปีย ที่โคนคันชักจะดัดไม้โค้งงอเล็กน้อย

หลักการสีซอสามสาย
      นิยมนั่งในท่าพับเพียบ ให้เท้าของซอปักลงตรงหน้าที่นั่ง มือขวาจับคันชักสีเข้า-ออกโดยผ่านสายทั้งสาม ขณะเดียวกันก็ใช้นิ้วของมือข้างซ้ายกดสายให้แนบชิดติดกับคันทวนกลางเพื่อให้เกิดเสียงสูง-ต่ำตามที่ต้องการ และจะใช้อุ้งมือบังคับคันซอหันไปมาเพื่อให้สายสัมผัสกับคันชักซึ่งจะทำให้เกิดเสียง 2 แบบคือ
1. สีดังเป็นเสียงเดียว
2. สีดังเป็นสองเสียงพร้อมกันเป็นเสียงประสานที่ไพเราะอันเป็นลักษณะของซอสามสาย
ต่อมาภายหลังนิยมนำซอสามสายเข้าร่วมบรรเลงกับวงเครื่องดนตรีอื่น  เช่น เข้าร่วมบรรเลงในวง
"มโหรี" (คือวงที่มีเครื่องสายกับเครื่องตีในวงปี่พาทย์ผสมกันโดยย่อสัดส่วนเครื่องดนตรีในวงเครื่องตีหรือวงปี่พาทย์ให้เล็กลงทั้งนี้ เพื่อให้เสียงกลมกลืนกับเครื่องสายมีหน้าที่บรรเลงคลอไปกับเสียงร้องและบรรเลงไปพร้อมกับเครื่องดนตรีอื่นๆตามทำนองเพลงเมื่อวงมโหรีขยายขนาดของวงใหญ่ขึ้น ซอสามสายจึงมีเพิ่มขึ้นอีกคันหนึ่งแต่มีขนาดเล็กกว่าเรียกว่า “ ซอสามสายหลิบ " บรรเลงคู่กันไปกับซอที่มีอยู่เดิม แต่ไม่มีหน้าที่คลอเสียงไปกับคนร้อง เพียงแต่ช่วยดำเนินทำนอง สอดแทรกแซงในทางเสียงสูง

วิธีสีซอสามสายเพื่อให้เกิดเสียงมีดังนี้
1.การสีสายเปล่าแบบไกวเปลคือการสีที่ใช้มือขวาจับคันชักแบบสามหยิบมือซ้ายกดสายให้เกิดเสียงสูง-ต่ำตามที่ต้องการ ในขณะเดียวกันจะหันหรือพลิกหน้าซอไปมาให้สายรับกับคันชักมีลักษณะเหมือนไกวเปล
2.การสีไล่เสียงคือการสีที่ไล่เสียงไปตามลำดับสูงต่ำ
3.การสีพร้อมกันทั้งสองสายเปล่าให้เกิดเสียงคู่สี่ล่างและคู่สี่บน
4. สีเก็บ คือการสีให้มีพยางค์ถี่ๆโดยตลอด
5.สีนิ้วประคือการใช้นิ้วชี้กดยืนเสียงใดเสียงหนึ่งและใช้นิ้วกลางกดขึ้นลงจะเกิดเสียงห่างๆเท่าๆกัน
6. นิ้วพรม คือการทำเช่นเดียวกับนิ้วประ แต่ยกนิ้วกลางที่กดขึ้นลงให้เกิดเสียงถี่ๆกว่านิ้วประ
7.สีนิ้วแอ้ คือการใช้นิ้วชี้แตะตรงตำแหน่งรัดอกและเลื่อนนิ้วมายังตำแหน่งของเสียงทีหนึ่งพร้อมทั้งสีคันชักออก
8. สีนิ้วครั่น คือการใช้นิ้วชี้กับนิ้วนางเรียงชิดติดกันกดลงบนสายพร้อมทั้งเลื่อนนิ้วขึ้นลงให้เกิดครึ่งเสียงและตามด้วยการพรมนิ้ว
9. การสีดำเนินทำนองเพลงทำให้เกิดเป็นทางเฉพาะของซอสามสาย

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สะล้อ 

     เป็นเครื่องสีอีกอย่างหนึ่งนิยมบรรเลงเล่นกันในภาคเหนือของไทยดังมีชื่อเรียกกันว่า "วงสะล้อซอซึง " เดิมเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ไปแอ่วสาว ต่อมาใช้บรรเลงรวมวงกับซึงและปี่จุม เรียกว่า "วงดนตรีพื้นเมืองเหนือสามารถบรรเลงเพลงสำเนียงเหนือได้อย่างไพเราะ เช่นเพลงละม้าย จะปุอื่อ ประสาทไหวเพลงเชียงใหม่ฯเป็นต้น เดิมเป็นเครื่องสีที่มี 2 สาย สีด้วยคันชักคล้ายซอด้วงมีวิธีการประดิษฐ์ไม่สู้ปราณีตนัก ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายตามพื้นบ้านต่อมาภายหลังพบว่าได้มีการสร้างสะล้อขึ้นด้วยความปราณีตสวยงามขึ้นและเพิ่มสะล้อขึ้นเป็น 3 ขนาดคือ
1. สะล้อเล็กมี 2 สาย
2. สะล้อกลางมี 2 สายแต่ใหญ่กว่าสะล้อเล็ก
3. สะล้อใหญ่มี 3 สายขนาดใหญ่กว่าสะล้อกลาง
ทั้ง 3 ระดับได้ทำขึ้นอย่างปราณีตโดยคันทวนทำด้วยงา ที่กะโหลกก็ประดับงาบางคันทำ
ด้วยไม้แต่ประกอบด้วยงา ส่วนประกอบของสะล้อมีดังนี้
• กะโหลก ทำด้วยกะลามะพร้าว ไม่ใหญ่เหมือนกะโหลกซออู้ ตัดปาดครึ่งลูกสำหรับขึ้น
หน้า ด้านหลังเจาะเป็นช่องระบายเสียงมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ตอนบนเจาะรูทะลุ
ด้านล่างเพื่อสอดใส่ไม้คันซอ
• คันทวน ทำด้วยไม้เนื้อแข็งกลึงกลม เรียวยาว ตอนล่างเล็ก ตอนปลายจะขยายใหญ่
ขึ้น ตอนล่างสุดจะสร้างคล้ายกับทวนล่างของซอสามสาย แต่เล็กกว่าคือกลึงเป็นเส้น
ลวดเรียงตามลำดับ มีเท้าซึ่งทำด้วยโลหะแหลมสำหรับปักลงกับพื้น ( บางคันคันไม่ได้ทำ
เท้าเป็นโละช่วงต่อจากกะโหลกจะกลึงเป็นเส้นลวดโดยรอบห่างพอสมควร กลึงเส้นลวด
อีกอันหนึ่ง ส่วนตอนบนกลึงลูกแก้ว 2 ลูก ตรงช่องกลางลูกแก้วเจาะเป็นรู 2 รูทะแยงกัน
สูงต่ำกันเล็กน้อยเพื่อสอดใส่ลูกบิด ที่ปลายสุดของคันซอ ( ทวนปลาย ) จะกลึงเป็นเม็ด
เพื่อความสวยงาม
• ลูกบิดทำด้วยไม้กลึงกลมเรียวหัวกลึงเป็นเม็ดปลายเรียวแหลมสำหรับ
สอดใส่ในรูคันซอ
• หน้าซอ ทำด้วยไม้แผ่นบางๆปิดหน้ากะลา
• สายใช้สายลวด  สายผูกกับหลัก ซึ่งทำด้วยไม้หรือโลหะโค้งเล็กน้อย ลากสายผ่าน"
หย่อง " ซึ่งทำด้วยไม้ลักษณะเป็น  เหลี่ยมเพื่อหนุนสายให้ลอยตัว จากนั้นลากผ่านคัน
ซอขึ้นไปพันผูกที่ลูกบิดทั้งสอง ก่อนถึงลูกบิดจะใช้หวายมัดให้สายติดกับคับซอเรียกว่า
รัดอก " การที่ใช้หวายมัดเป็นรัดอกจะทำให้เสียงกังวานและแกร่งขึ้น ในระหว่างรัดอกจะ
มีจิม " ซึ่งทำด้วยไม้แผ่นบางๆมายัดให้แน่นขณะเลื่อนรัดอก เพื่อหาเสียงที่ไพเราะ
• คันชักมีลักษณะเช่นเดียวกับคันชักของซอด้วง พบสะล้อที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความปราณีต
สวยงาม
• ที่บ้านของเจ้าสุนทร เชียงใหม่ครูดนตรีพื้นเมืองของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ท่านได้
สร้างขึ้นให้มีเสียงดังกังวาน โดยการเพิ่มกะลามะพร้าวที่ทำเป็นกะโหลกให้มีลักษณะเป็น
พูเช่นเดียวกับกะโหลกซอสามสายเจาะ ตรงพูให้เป็นรูปหัวใจเพื่อระบายเสียงให้กังวาน
คันทวน ทำด้วยงา โคนทวนกลางกลึงเป็นรูปวงแหวนลดหลั่นตามลำดับปลายทวนกลึง
เป็นลูกแก้วลูกบิดก็กลึงเป็นลูกแก้วประดับเม็ดระหว่างลูกบิดทั้งสามจะกลึงเป็นรูปแหวน
วงขนาบลูกบิดไว้ ส่วนสายนั้นใช้สายกีต้าแทน
หลักการสีสะล้อ
เดิมผู้สียืนสี คาดผ้าที่เอวให้ปลายคันทวนปักลงที่ผ้าคาดเอว มือขวาจับคันชักมือซ้ายกด
สายลำตัวสะล้อค่อนไปทางซ้ายมือของผู้ดีด ปัจจุบันผู้ดีดนั่งสีในท่าขัดสมาธิหรือพับเพียง ปัก
ปลายคันทวนลงกับพื้นด้านหน้าทางซ้าย มือขวาจับคันชัก มือซ้ายกดสายเวลาสีจะพลิกตัวสะล้อ
หันไปมาเพื่อรับกับสายคันชัก
วิธีสีและเสียงของสะล้อมีดังนี้
1.การสีสายเปล่า
2.การสีไล่เสียงยาวๆ
3.การสีเก็บ
4.การสีพรม

5.การสีดำเนินทำนองสะล้อ

เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตี

เครื่องตี

เครื่องตี

          เป็นประเภทที่เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์รู้จักใช้และเครื่องดนตรีของไทยก็เช่น เดียวกัน โดยทั่วไปเครืองตีเป็นเครื่องเก่าแก่ของไทย แต่ก้ได้แก้ไขปรับปรุงให้วิวัฒนาการมาโดยลำดับเครื่องตีที่ใช้ในวงดนตรีไทย แบ่งออกเป็น 3 จำพวก คือ

เครื่องตีทำด้วยไม้

          เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตีที่ทำด้วยไม้นั้นมีอยู่ด้วยกัน 7 ชิ้น ดังนี้

ระนาดเอก 

          ระนาดเอก  เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยไม้ ประเภทดำเนินทำนอง   มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าเกิดขึ้นเมื่อสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา บรรเลงผสมในวงปี่พาทย์เครื่องห้า  เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ตามลำดับ     มีหน้าที่เป็นผู้นำวง  ตีเก็บ  ตีกรอเป็นพื้นฐาน   ตีรัวในแบบต่างๆในบางโอกาส เดิมเรียกว่า " ระนาด "     ต่อเมื่อภายหลังมีระนาดทุ้มเกิดขึ้น     จึงเรียกระนาดชนิดนี้ว่า " ระนาดเอก "


ระนาดทุ้ม 

        
             ระนาดทุ้ม เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ย รองไว้ 4 มุมราง  หน้าที่ในวงของระนาดทุ้มนั้น ทำหน้าที่เดินทำนองรอง ในทางของตนเองซึ่งจะมีจังหวะโยน ล้อ ขัด ที่ทำให้เกิดความไพเราะและเติมเต็มช่องว่างของเสียง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของระนาดทุ้ม


 เกราะ

             เป็นเครื่องตีที่ทำด้วยไม้ไผ่ เดิมเป็นเครื่องตีสำหรับขานยาม ไม่ปรากฏว่านำมาใช้ร่วมในวงการดนตรี แต่ในการเล่นโขนละครตอนพักทัพที่อยู่เวรยาม  และตอนที่หัวหน้าหมู่บ้านใช้ตีเป็นอาณัติสัญญาบอกเหตุอันตราย หรือตีเพื่อนัดหมายชุมนุมลูกบ้าน


 โกร่ง

               เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะที่ทำด้วยไม้ไผ่  เช่นเดียวกับเกราะ   แต่ยาวกว่า      ตั้งอยู่บนขา 2 ขา  เคยเห็นใช้ตีตามชนบท ในฤดูการงานสงกราณต์ เด็กๆและหนุ่มสาวใช้ตีประกอบการร้องที่เรียกว่า " ร่ำ " คือการตีควบไปกับการร้องในการเชิญทรงเจ้าเข้าผี และรำแม่ศรี เป็นต้น   ที่ใช้ในวงการดนตรีก็คือ  การตีร่วมกับการแสดงหนังใหญ่ และโขนละคร   โดยเฉพาะในการบรรเลงเพลงกราวตรวจพล  แต่ในการแสดงโขน ของกรมศิลปากร จะใช้โกร่งร่วมตีในวงปี่พาทย์ในการแสดงโขนกลางแจ้ง  ถ้าเป็นการแสดงภายในจะไม่ใช้เพราะเสียงดังเกินไป   


 กรับคู่

           ทำด้วยไม้ไผ่ซีก 2 อันเหลาให้เรียบและเกลี้ยง  หนาตามขนาดของเนื้อไม้  หัวและท้ายกว่าใหญ่ลดหลั่นกันเล็กน้อย  ตีด้วยมือทั้งสองข้าง  โดยจับข้างละอัน ให้ด้านที่เป็นผิวไม้กระทบกัน ตีลงบริเวณใกล้กับตอนหัว   มีเสียงดัง กรับ กรับ  โดยมากจะใช้ตีกำกับจังหวะในวง ปี่พาทย์ชาตรี ประกอบการแสดงละครชาตรี โดยเฉพาะ   ในเพลงร่ายต่างๆ   ในวงกลางยาวก็นิยมใช้กรับคู่ไปตีกำกับจังหวะหนัก ที่เรียกว่ากรับคู่คงเป็นเพราะมีเป็นคู่ 2 อัน บางทีก็เรียกว่า " กรับไม้ "

  
กลับพวง

           เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะที่ทำด้วยไม้  ผสมโลหะ  ร้อยเชือกติดกันเป็นพวง ทั้งไม้และโลหะทำเป็นแผ่นบางๆสลับกัน โดยชิ้นนอกสุด 2 ชิ้น  จะเหลาหนา หัว และท้ายงอนโค้งงอน ด้านจับเล็ก ตอนปลายใหญ่ ร้อย เชือกทางด้านปลาย ให้หลวมพอประมาณ    เวลาตีมือหนึ่งจะจับกัมตอนปลาย ให้หัวตีลงบนมืออีกข้างหนึ่ง ซึ่งจะมีเสียงไม้กับโลหะกระทบกัน      เดิมใช้ตีเป็นอาณัติสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกท้องพระโรงของพระเจ้าแผ่นดิน   ที่เรียกว่า  " รัวกรับ "   โดยเฉพาะในเรือสุพรรณหงส์   พระราชพิธีทอดผ้าพระกฐินทางชลมารค  เจ้าพนักงานจะรัวกรับ  เพื่อบอกฝีผายทำความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และออกเรือ


 กรับเสภา

             เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะอีกชนิดหนึ่ง  ที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง โดยเฉพาะไม้ชิงชัน เหลาให้เป็นสี่เหลี่ยม ด้านบนลบเหลี่ยมเล็กน้อย  เพื่อไม่ให้บาดมือและสามารถกลิ้งตัวของมันเอง    กลอกกระทบกันได้สะดวก ด้านล่างนูนโค้งเล็กน้อย  เดิมใช้ขยับตีในการขับเสภา ดังที่เรียกว่า " ขยับกรับขับเสภา "     ซึ่งผู้ขับ เสภาจะเป็นผู้ขยับเอง  โดยใช้กรับ 2 คู่    ขยับคู่ละมือ  ขับเสภาไปพลาง   ขยับกรับสอดแทรกไปกับทำนองขับ   ซึ่งมีวิธีการขยับกรับได้หลายวิธี   อันถือเป็นศิลปชั้นสูงอย่างหนึ่งในการขยับกรับขับเสภา  ซึ่งนิยมเล่นกันมากในสมัยโบราณ


เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ

             เครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะนั้นมีอยู่ด้วยกัน 5 ชิ้น ดังนี้

ฆ้อง

            ฆ้อง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเพอร์คัชชันทำด้วยโลหะที่มีหลายรูปแบบ คำว่าฆ้องนั้นมีที่ว่าจากภาษาชวา ปรากฏการใช้ฆ้องในหลายชาติในทวีปเอเชีย เช่น จีน อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย เป็นต้น ปัจจุบันฆ้องเข้าไปมีส่วนในดนตรีตะวันตกด้วยเช่นกัน  ฆ้องมีอยู่ 6 ชนิด ดังนี้

    ฆ้องวงใหญ่
             เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากฆ้องรางของอินโดนีเซีย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนประกอบของฆ้องวงใหญ่ประกอบด้วยลูกฆ้องและวงฆ้อง ลูกฆ้องมี 16 ลูกทำจากทองเหลือง เรียงจากลูกเล็กด้านขวา วงฆ้องสูงประมาณ 24 เซนติเมตร ใช้หวายโป่งทำเป็นราง ให้หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกัน 14-17 เซนติเมตร ใช้หวาย 4 อัน ด้านล่าง 2 อันขดเป็นวงขนานกัน เว้นที่ไว้ให้นักดนตรีเข้าไปบรรเลง  ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่จะเล่นดนตรีในวงปี่พาทย์ต้องมาเรียนฆ้องวงใหญ่ก่อน ฆ้องวงใหญ่ทำหน้าที่เดินทำนองหลัก ซึ่งถือเป็นแม่บทของเพลง  ฆ้องวงใหญ่ใช้เล่นในวงปี่พาทย์ วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงมโหรี

       
    ฆ้องวงเล็ก

             ฆ้องวงเล็กเป็นเครื่องดนตรีไทยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 มีลักษณะเหมือนกับฆ้องวงใหญ่ แต่ลูกฆ้องมีขนาดเล็กกว่า มีลูกฆ้อง 18 ลูก บรรเลงทำนองคล้ายระนาดเอก แต่ตีเก็บถี่กว่าระนาดเอก
ฆ้องวงเล็กใช้วงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงมโหรี


    ฆ้องมอญ

              ฆ้องมอญเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากมอญมี ลักษณะตั้งโค้งขึ้นไป ไม่ตั้งราบกับพื้นแบบฆ้องไทย วงฆ้องทำจากไม้แกะสลักปิดทองอย่างสวยงาม ทางโค้งด้านซ้ายของผู้ตีแกะเป็นรูปต่างๆตามต้องการ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมรูปเทวดา ทางโค้งด้านขวาทำเป็นรูปปลายหาง มีเท้ารองตรงกลางเหมือนระนาดเอก ฆ้องมอญมีลูกฆ้อง 15 ลูก แต่ฆ้องมอญจะไม่เรียงเสียงเหมือนฆ้องไทย ในบางช่วงมีการข้ามเสียง เรียกเสียงที่ข้ามว่า"หลุม"  ฆ้องมอญทำหน้าที่เดินทำนองเพลงเช่นเดียวกับฆ้องวงใหญ่ของไทย ฆ้องมอญมี 2 ขนาดเหมือนกับฆ้องไทยคือ ฆ้องมอญใหญ่และฆ้องมอญเล็ก  ฆ้องมอญใช้เล่นในวงปี่พาทย์มอญ


    ฆ้องโหม่ง

             มีเชือกร้อยรูทั้ง ๒ ที่ใบฉัตร แขวนห้อยทางตั้งกับขาหยั่งหรือคานไม้ ตรงหัวไม้ที่ใช้ตีพันด้วยผ้ากับเชือกให้เป็นปุ่มโตอ่อนนุ่ม เวลาตีจะมีเสียงดังโหม่ง ๆ ใช้ตีกำกับจังหวะในวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย หรือวงมโหรี, สมัยโบราณใช้ตีในเวลากลางวันเป็นสัญญาณบอก 'โมง' คู่กับกลองที่ตีเป็นสัญญาณในเวลากลางคืนบอก 'ทุ่ม'.

     ฆ้องคู่

             ใช้กำกับจังหวะ โยชุดหนึ่งจะมีสองลูก ลูกใหญ่ให้เสียงต่ำ ลูกเล็กให้เสียงสูง ไม้ตีทำด้วย แผ่นหนังวัว หรือหนังควายตัดเป็นวงกลม เจาะรูตรงกลางไ่ก้านไม้



    ฆ้องราว

             ฆ้อง ๓ ใบ มีขนาดลดหลั่นกัน ใช้แขวนราวเรียงไปตามขนาด เมื่อตีเรียงไปตามลำดับลูกแล้วย้อนกลับจะได้ยินเป็นเสียง "โหม่ง-โมง-โม้ง,โม้ง-โมง-โหม่ง" แต่แรกจะคิดสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการใดหาทราบไม่ แต่ตามที่ปรากฎต่อมาใช้บรรเลงในการเล่นมหรสพโบราณชนิดหนึ่งเรียกว่า "ระเบง" หรือเรียกตามคำร้องของกลอนซึ่งขึ้นต้นวรรคด้วยคำว่า "โอละพ่อ" เลยเรียกฆ้องราว ๓ ใบ ชนิดนี้ว่า "ฆ้องระเบง" ติดมาแม้การเล่น "ระเบง" หรือ "โอละพ่อ" ในงานพระราชพิธีจะได้ว่างเว้นมาเป็นเวลานาน จนอนุชนรุ่นนี้ไม่ค่อยรู้จักกันอยู่แล้วแต่ในวงการดนตรีไทยยังรู้จัก "ฆ้องระเบง"ดีอยู่

ฉิ่ง

          ฉิ่งเป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี ทำด้วยทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม 1 ชุด มี 2 ฝา ฉิ่งมี 2 ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรี  เนื่องจากการตีฉิ่ง ต้องเอาขอบของฝาข้างหนึ่งกระทบกับอีกฝากหนึ่ง แล้วยกขึ้น ก็จะมีเสียงดังกังวานยาวดัง ฉิ่ง แต่ถ้าเอาทั้ง 2 ฝานั้นกระทบและประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงดังสั้นๆดัง ฉับ ดังนั้นการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง ก็เพราะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง


ฉาบ

             ฉาบเป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ทำด้วยโลหะคล้ายฉิ่ง แต่หล่อให้บางกว่า ฉาบมี 2 ชนิดคือฉาบเล็ก และ ฉาบใหญ่ ฉาบเล็กมีขนาด ที่วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 –14 ซม ส่วนฉาบใหญ่มีขนาดที่วัดผ่าน ศูนย์กลางประมาณ 24 –26 ซม เวลาบรรเลงใช้ 2 ฝามาตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะ เมื่อฉาบทั้งสองข้างกระทบกันขณะตีประกบกันก็ จะเกิดเสียง ฉาบ แต่ถ้าตีแล้วเปิดเสียงก็จะได้ยินเป็น แฉ่ง แฉ่ง แฉ่ง เป็นต้น